ข้อบังคับสมาคม

หมวด 1
ชื่อ เครื่องหมาย สำนักงาน

ข้อ 1 สมาคมนี้ชื่อว่า “สมาคมจิตวิทยาแห่งประเทศไทย” ใช้อักษรย่อว่า ส.จ.ท. และเรียกเป็นชื่อภาษาอังกฤษว่า “Thai Psychological Association” และใช้อักษรย่อว่า T.P.A.

ข้อ 2 เครื่องหมายของสมาคม เป็นรูปวงกลมพื้นสีฟ้า มีสัญลักษณ์สากลของจิตวิทยา สีขาวอยู่ตรงกลาง มีรวงข้าวสีทองประกอบ 2 ข้าง และมีชื่อสมาคมจิตวิทยาแห่งประเทศไทยทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ สีขาวอยู่ภายในวงกลม

ข้อ 3 สำนักงานของสมาคมตั้งอยู่ ณ 1761 อาคารเกษมพัฒน์ ชั้น 3 มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต วิทยาเขตพัฒนาการ แขวงพัฒนาการ เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร


หมวด 2

วัตถุประสงค์

ข้อ 4  วัตถุประสงค์ของสมาคมเพื่อ 

       4.1 ส่งเสริมการศึกษาและกิจกรรมทางจิตวิทยาให้เป็นวิชาชีพเพื่อเป็นประโยชน์แก่สังคม

       4.2 เผยแพร่ความรู้ทางจิตวิทยาต่อสังคม

       4.3 ส่งเสริมให้มีการวิจัยและเผยแพร่ผลงานทางจิตวิทยา 

       4.4 ประสานงานจิตวิทยาทุกสาขาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

       4.5 ส่งเสริมและควบคุมคุณภาพงาน นวัตกรรม และเทคโนโลยีทางจิตวิทยา

       4.6 เพิ่มความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางวิชาการกับสมาคมอื่นๆ ที่มีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ

       4.7 ให้คำปรึกษาและให้ข้อเสนอแนะทางด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพจิตวิทยา

       4.8 ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง


หมวด 3
สมาชิก

ข้อ 5  สมาชิกของสมาคมมี 4  ประเภทคือ

      5.1 สมาชิกสามัญ ต้องเป็นบุคคลที่ได้รับปริญญาทางจิตวิทยาสาขาใดสาขาหนึ่ง

      5.2 สมาชิกวิสามัญ ต้องเป็นบุคคลที่ปฏิบัติงานในทางจิตวิทยามาแล้วและได้รับความเห็นชอบจาก คณะกรรมการอำนวยการ

      5.3 สมาชิกสมทบ ต้องเป็นบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจทางจิตวิทยาและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอำนวยการ

   5.4 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลผู้ทรงเกียรติคุณซึ่งคณะกรรมการอำนวยการ ได้ลงมติให้เชิญเป็นสมาชิก เพื่อเป็นเกียรติแก่สมาคมโดยเฉพาะผู้ได้ปฏิบัติงานส่งเสริมการศึกษาค้นคว้าทางจิตวิทยา และ/หรือกิจกรรมของสมาคม

ข้อ 6   สมาชิกของสมาคมต้องมีคุณสมบัติดังนี้ 

     6.1 เป็นผู้บรรลุนิติภาวะ

     6.2 เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย

    6.3 ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความ  สามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือต้องโทษจำคุก ยกเว้นความผิดฐาน ประมาทหรือลหุโทษ

     6.4 ได้รับความเห็นชอบจาก คณะกรรมการอำนวยการ

ข้อ 7 การสมัครเข้าเป็นสมาชิก 

ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิก ให้ยื่นใบสมัครตามแบบของสมาคม โดยมีสมาชิกสามัญ เป็น  ผู้รับรอง 2 คน ส่งมายังเลขาธิการเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการ เมื่อคณะกรรมการอำนวยการได้ลงมติเห็นชอบการรับสมัครเข้าเป็นสมาชิกแล้ว ให้นายทะเบียนแจ้งไปยังผู้สมัครให้ชำระค่าจดทะเบียนและค่าบำรุงตามที่สมาคมกำหนด เมื่อได้รับหลักฐานการชำระ ค่าจดทะเบียน และค่าบำรุงแล้วให้นายทะเบียน แจ้งผลการลงทะเบียนเป็นลายลักษณ์อักษรแก่ผู้สมัครและบันทึกชื่อไว้ในทะเบียนสมาชิก

ข้อ 8 ค่าจดทะเบียนและค่าบำรุง

ค่าจดทะเบียนและค่าบำรุงให้ใช้อัตราที่กำหนด ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการ และต้องแจ้งต่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีหรือที่ประชุมใหญ่วิสามัญทุกครั้ง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าจดทะเบียน ทั้งนี้ให้มีการจัดเก็บค่าจดทะเบียนและค่าบำรุงในหมวดดังนี้

     8.1 ค่าจดทะเบียน

     8.2 ค่าบำรุงแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทรายปี และประเภทราย 5 ปี

ข้อ 9  สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก 

     9.1 สมาชิกสามัญ มีสิทธิสมัครเพื่อเข้ารับการเลือกตั้งเป็นว่าที่นายก หรือกรรมการกลางของสมาคม

     9.2 สมาชิกสามัญ มีสิทธิเสนอความเห็นเกี่ยวกับความเจริญของกิจการ หรือความเป็นไปของสมาคมต่อคณะกรรมการอำนวยการ หรือที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือที่ประชุม ใหญ่วิสามัญ และมีสิทธิเข้าชื่อกันตามข้อ 16 เพื่อขอให้คณะกรรมการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ

    9.3 สมาชิกสามัญ มีสิทธิซักถาม เสนอแนะ และขออนุญาตต่อคณะกรรมการ     อำนวยการ เพื่อตรวจสอบเอกสารทะเบียนสมาชิก บัญชีหรือทรัพย์สินของสมาคม ณ สำนักงาน               ของสมาคมได้ในเวลาอันสมควร

    9.4 สมาชิกสามัญ มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญประจำปี การประชุมใหญ่วิสามัญ หรือการประชุมทางวิชาการที่ทางสมาคมจัดขึ้น ในการนี้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนคนละ 1               คะแนน การออกเสียงลงคะแนนเป็นสิทธิเฉพาะตัว จะมอบอำนาจให้ผู้อื่นออกเสียงแทนไม่ได้ และมีสิทธิประดับเครื่องหมายของสมาคมได้

    9.5 สมาชิกกิตติมศักดิ์ สมาชิกวิสามัญ และสมาชิกสมทบ มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญประจำปี ประชุมใหญ่วิสามัญ มีสิทธิเข้ารับการฝึกอบรมหรือกิจกรรมอื่นที่สมาคมจัดขึ้น             รวมถึงเข้าร่วมการประชุมวิชาการประจำปีที่สมาคมจัดขึ้นโดยชำระค่าลงทะเบียนในอัตราพิเศษ มีสิทธิได้รับข่าวสาร และประดับเครื่องหมายของสมาคม

    9.6 สมาชิกสามัญ สมาชิกวิสามัญ และสมาชิกสมทบ ที่จ่ายค่าบำรุงตลอดชีพมาก่อนการแก้ข้อบังคับนี้ให้คงสมาชิกภาพประเภทนั้น ๆ ไปจนกว่าจะสิ้นสุดสมาชิกภาพ หรือมี                 คุณสมบัติเพิ่มเติมที่จะเปลี่ยนสมาชิกภาพจากสมาชิกวิสามัญหรือสมาชิกสมทบไปเป็นสมาชิกสามัญ กรณีนี้ต้องสมัครใหม่ ชำระค่าจดทะเบียนใหม่
         แต่ไม่ต้องชำระค่าบำรุงใหม่ และให้มีสมาชิกภาพเป็นสมาชิกสามัญไปจนกว่าจะสิ้นสุดสมาชิกภาพ

    9.7 สมาชิกทุกประเภท กรณีมีการย้ายที่อยู่ เปลี่ยนชื่อ หรือนามสกุล ต้องแจ้งให้นายทะเบียนทราบเป็นลายลักษณ์อักษร

    9.8 สมาชิกทุกประเภท มีหน้าที่ให้ความร่วมมือต่อการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของสมาคม

ข้อ 10 การสิ้นสภาพสมาชิกภาพสมาชิกภาพย่อมสิ้นสุดลงด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
           10.1.1 ตาย

           10.1.2 ลาออก

           10.1.3 ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือต้องโทษจำคุก เว้นแต่ความผิดในลักษณะฐาน
            ลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท

          10.1.4 ต้องคำพิพากษาของศาลสั่งให้เป็นบุคคลสาบสูญ

          10.1.5 คณะกรรมการอำนวยการมีมติให้ออกตามความในข้อ 10.3

10.2 สมาชิกคนใดประสงค์จะลาออกจากสมาชิกภาพให้แสดงความจำนงเป็น หนังสือยื่นต่อเลขาธิการ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการอำนวยการแต่ต้องชำระเงินค่าบำรุงและหนี้สินอย่างอื่นอันค้างชำระอยู่แก่สมาคมให้เสร็จสิ้นเสียก่อน และความเป็นสมาชิกภาพจะสิ้นสุดนับแต่วันที่คณะกรรมการอำนวยการ ได้อนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรให้ลาออกได้แล้ว

10.3 คณะกรรมการอำนวยการอาจลงมติลบชื่อสมาชิกออกจากทะเบียนได้ เมื่อปรากฏชัดแจ้งอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

      10.3.1 มีความประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงหรือทำตนให้เป็นที่เสื่อมเสีย ของสมาคม หรือละเมิดระเบียบหรือข้อบังคับโดยเจตนาเมื่อได้รับคำตักเตือนเป็นหนังสือจากเลขาธิการแล้วยังไม่ยุติพฤติกรรมดังกล่าว ทั้งนี้ให้คณะกรรมการอำนวยการเป็นผู้พิจารณาตัดสิน

         10.3.2 ไม่ชำระค่าบำรุงหลังจากได้รับการรับรองเป็นสมาชิก หรือไม่ชำระค่าบำรุงภายใน 3 เดือนแรกของปีที่ต้องต่ออายุสมาชิกภาพ และเหรัญญิกได้เตือนไปแล้ว 2 ครั้ง การเตือนถามครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ให้มีระยะห่างกันตามสมควรภายใน 3 เดือน ถ้าสมาชิกผู้นั้นยังไม่นำเงินมาชำระหรือเพิกเฉยละเลย โดยไม่ชี้แจงเหตุผลให้เป็นที่พอใจของคณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการอำนวยการมีอำนาจลบชื่อสมาชิกผู้นั้นออกจากทะเบียนสมาชิกของสมาคม และให้เลขาธิการมีหนังสือแจ้งให้สมาชิกผู้นั้นทราบ แต่สมาชิกผู้ถูกลบชื่อออกด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ย่อมมีสิทธิขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกอีกได้ ในเมื่อได้ดำเนินการชำระค่าบำรุงและหนี้สินที่ค้างให้เสร็จสิ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


หมวด 4

การดำเนินงานของสมาคม

ข้อ 11   คณะกรรมการอำนวยการ

             11.1 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการอำนวยการ ประกอบด้วยกรรมการบริหาร 9 ตำแหน่ง และกรรมการกลาง 10 ตำแหน่ง ดังนี้

            11.1.1  กรรมการบริหาร 9  ตำแหน่ง ประกอบด้วย

                      1) นายก
                      2) ว่าที่นายก
                      3) อุปนายก
                      4) เลขาธิการ
                      5) เหรัญญิก
                      6) ปฏิคม
                      7) สาราณียากร
                      8) นายทะเบียน
                      9) ประชาสัมพันธ์

            11.1.2 กรรมการกลาง 10 ตำแหน่ง

ข้อ 12   การเลือกตั้ง และการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการ

              12.1 นายก เป็นผู้ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ให้ดำรงตำแหน่ง ว่าที่นายกเป็นเวลา 2 ปี หลังจากนั้นให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายก ให้อยู่ในวาระ 3 ปี                         เมื่อพ้น วาระแล้วให้คณะกรรมการอำนวยการ ทำหนังสือเชิญเป็นที่ปรึกษาสมาคม ตามวาระของนายก
                                กรณีเป็นอดีตนายกให้สามารถดำรงตำแหน่งได้เลย โดยไม่ต้องทำหน้าที่ว่าที่นายก และให้นายกแต่งตั้งที่ปรึกษาสมาคม

               12.2 ว่าที่นายก ได้มาจากการสรรหาและเสนอชื่อโดยคณะกรรมการอำนวยการ เพื่อขอมติ เห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี
                                การสรรหาและเสนอชื่อว่าที่นายก ให้คณะกรรมการอำนวยการที่ดำรงตำแหน่งในวาระนั้น ๆ กำหนดวิธีการสรรหาว่าที่นายกและให้สิทธิคณะกรรมการอำนวยการ
                          คัดเลือกว่าที่นายก
                                ว่าที่นายกที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการอำนวยการ ต้องปรากฏตัวในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี พร้อมคณะ กรรมการบริหารอีก 7 ตำแหน่ง
                         และอนุโลม  ให้คณะกรรมการบริหารอีก 7 ตำแหน่ง ใช้เอกสารแทนตัว เพื่อขอมติเห็นชอบจากสมาชิกสามัญในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี

                               มติของสมาชิกสามัญในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานที่ประชุมออกเสียงชี้ขาดอีกเสียงหนึ่ง

                              ผู้ที่ได้รับมติเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ให้ดำรงตำแหน่งว่าที่นายก 2 ปี หลังจากนั้นจึงเลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งนายก 

              12.3 ให้สิทธินายก แต่งตั้งสมาชิกให้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหาร 7 ตำแหน่ง คือ  อุปนายก เลขาธิการ เหรัญญิก ปฏิคม สาราณียากร นายทะเบียน และประชาสัมพันธ์                             และอยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระของนายก

             12.4 กรรมการกลาง ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสามัญ ดำรงตำแหน่งกรรมการกลาง 10 คน โดยมีวาระ 4 ปี และกำหนดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการกลางชุดใหม่ ภายในไตรมาสที่ 2 ของปีที่หมดวาระลง ทั้งนี้ให้ดำเนินการเลือกตั้ง โดยกำหนดให้มีการลงคะแนนเสียงและนับคะแนนเสียง ด้วยวิธีการดังนี้

(1)  การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ผู้ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดตามลำดับจนครบจำนวนตำแหน่งให้ถือว่าเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง ถ้าคะแนนเสียงของลำดับสุดท้ายเท่ากัน ให้ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีลงคะแนนเสียงแก่ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงลำดับสุดท้ายเท่ากันอีกครั้ง ผู้ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดตามลำดับจำนวนตำแหน่งให้ถือว่าเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งถ้าคะแนนเสียงเท่ากันอีกให้ตัดสินโดยวิธีการจับฉลาก

(2)  การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผ่านทางไปรษณีย์ โดยให้คณะกรรมการอำนวยการ แต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งขึ้น และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดส่งเอกสารการลงคะแนนเลือกตั้งให้กับสมาชิก เมื่อสมาชิกตอบกลับมาให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดการนับคะแนน โดยมีพยานในการนับคะแนน ซึ่งไม่ใช่คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นพยานอย่างน้อย 3 คน

(3)  การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-voting) ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง เผยแพร่วิธีและการลงคะแนน ให้สมาชิกรับทราบ และดำเนินการลงคะแนนเสียง พร้อมทั้งแจ้งผลการนับคะแนนให้สมาชิกรับทราบผ่านทาง การประชาสัมพันธ์ สื่อ และหรือช่องทางการสื่อสารที่สมาคม กำหนด

               จำนวนสมาชิกสามัญทั้งหมดที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง จะต้องมีไม่น้อยกว่า 30 คนถ้าไม่ถึงจำนวนที่กำหนด ให้จัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วัน และในการเลือกตั้งครั้งใหม่นั้นให้ถือจำนวนสมาชิกสามัญที่ลงคะแนนเป็นมติเอกฉันท์

               กรณีที่กรรมการกลางว่างลงไม่ว่ากรณีใด ให้คณะกรรมการอำนวยการทำหนังสือเชิญกรรมการกลาง ที่เคยสมัครเข้ารับการเลือกตั้ง และได้คะแนนเลือกตั้งตั้งแต่ลำดับที่ 11 เป็นต้นไป เข้ารับตำแหน่งแทนตำแหน่งกรรมการกลางที่ว่างลง

12.5 กรณีคณะกรรมการบริหารหมดวาระลง และมีเหตุทำให้ไม่สามารถ จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อลงมติเลือกว่าที่นายก หรือ ลงมติเลือกตั้งกรรมการกลางได้        ให้คณะกรรมการบริหารชุดเดิม รักษาการและบริหารงานสมาคม ต่อไปจนกว่า       จะสามารถจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีเพื่อลงมติเลือกว่าที่นายก หรือลงมติเลือกตั้งกรรมการกลางในวาระต่อไปได้

ข้อ13   การพ้นจากตำแหน่งคณะกรรมการอำนวยการ

               13.1 คณะกรรมการอำนวยการย่อมพ้นจากตำแหน่งโดยสาเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

  1. ถึงคราวออกตามวาระ
  2. ลาออก
  3. สิ้นสุดสมาชิกภาพ ดังปรากฏในข้อ 10.1
  4. ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีลงมติให้ออกตามความในข้อ 13.2
  5. ไม่มาประชุมกรรมการบริหาร ติดต่อกันเกิน 3 ครั้ง โดยไม่มีเหตุผล เพียงพอ การตัดสินความเพียงพอของเหตุผลให้ใช้เสียงข้างมากของคณะกรรมการอำนวยการที่มาประชุม

         13.2 ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีอาจลงมติถอดถอนคณะกรรมการอำนวยการทั้งคณะ หรือบางคนได้ ในกรณีที่ดำเนินกิจการของสมาคมนอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์และข้อบังคับของสมาคม ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง โดยคะแนนเสียง ไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกที่เป็นองค์ประชุมในการประชุมนั้น

ข้อ 14 อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการอำนวยการ

             14.1  คณะกรรมการอำนวยการ มีหน้าที่บริหารกิจการของสมาคม ในการนี้มีสิทธิและอำนาจในการออกระเบียบข้อบังคับอื่นใด ที่ไม่ขัดแย้งต่อข้อบังคับของสมาคม ตั้งที่                             ปรึกษา ตั้งอนุกรรมการ ตลอดจนสรรหาและเสนอชื่อว่าที่นายก เพื่อขอมติเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี คณะกรรมการอำนวยการแต่ละคนมีหน้าที่
                        ดูแลให้กิจการทุกอย่างของสมาคมดำเนินไปด้วยดี

              14.2  นายก เป็นสมาชิกสามัญและมีฐานะและหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการทุกอย่างของสมาคมให้ดำเนินไปตามวัตถุประสงค์ เป็นประธานในที่ประชุม
                       มีหน้าที่ทำการติดต่อกับนิติบุคคลหรือองค์การอื่นใดตลอดจนบุคคลทั่วไป มีอำนาจตามความในข้อ 21 กับเป็นผู้เรียกหรือสั่งนัดหมายประชุมคณะกรรมการอำนวยการ

              14.3  ว่าที่นายก เป็นสมาชิกสามัญและมีหน้าที่ศึกษาการดำเนินงานของคณะกรรมการอำนวยการ และปฏิบัติภารกิจตามที่คณะกรรมการอำนวยการ มอบหมาย

              14.4  อุปนายก เป็นสมาชิกสามัญและมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกและทำหน้าที่บริหารงานแทนเมื่อนายกไม่อยู่ เมื่อนายกไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือเมื่อได้รับมอบหมาย

              14.5  เลขาธิการ เป็นสมาชิกสามัญและมีหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกับสมาชิกและบุคคลอื่นใดในกิจการทั่วไป รักษาระเบียบข้อบังคับของสมาคมบันทึกและจัดทำรายงาน
                     การประชุมกับเสนอรายงานกิจการของสมาคม ต่อที่ประชุมใหญ่ประจำปี นัดและจัดการประชุมคณะกรรมการอำนวยการการประชุมใหญ่สามัญประจำปี การประชุมใหญ่
                     วิสามัญในกรณีที่นายกและอุปนายกไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

               14.6 เหรัญญิก เป็นสมาชิกประเภทใดก็ได้และมีหน้าที่รับจ่ายและรักษาเงินของสมาคมทำบัญชีงบเดือน บัญชีงบดุล และงบประมาณประจำปี
                     เสนอคณะกรรมการอำนวยการ ควบคุมการใช้จ่ายตามงบประมาณที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีแล้ว และเป็นผู้เสนอรายงานการเงินของสมาคมต่อที่                        ประชุมใหญ่สามัญประจำปี

                      ในกรณีนี้ไม่มีสิทธิและอำนาจ ตามความในข้อ 14.1 ยกเว้นแต่กรณีที่ตำแหน่งเหรัญญิก เป็นสมาชิกสามัญ

             14.7 ปฏิคม เป็นสมาชิกประเภทใดก็ได้และมีหน้าที่ให้ความสะดวกแก่สมาชิกในด้านสมาชิกสัมพันธ์ เช่น การชุมนุมพบปะร่วมสามัคคี และต้อนรับสมาชิกหรือ
                      ผู้แทนสมาคมต่างประเทศ

ในกรณีนี้ไม่มีสิทธิและอำนาจ ตามความในข้อ 14.1 ยกเว้นแต่กรณีที่ตำแหน่งปฏิคมเป็นสมาชิกสามัญ

       14.8  สาราณียากร เป็นสมาชิกสามัญและมีหน้าที่ดูแลห้องสมุดของสมาคมจัดหาหนังสือและนิตยสารกับวางระเบียบเกี่ยวกับห้องสมุด ตลอดจนการพิมพ์เผยแพร่เอกสาร   ของสมาคม

              14.9  นายทะเบียน เป็นสมาชิกสามัญและมีหน้าที่รักษาทะเบียนของสมาคมกับวางระเบียบเกี่ยวกับงานทะเบียน

              14.10  ประชาสัมพันธ์ เป็นสมาชิกประเภทใดก็ได้และมีหน้าที่ให้ข่าวสารและ เผยแพร่ผลงานของสมาคม

ในกรณีนี้ไม่มีสิทธิและอำนาจ ตามความในข้อ 14.1 ยกเว้นแต่กรณีที่ตำแหน่งประชาสัมพันธ์เป็นสมาชิกสามัญ

             14.11   กรรมการกลาง มีหน้าที่ช่วยเหลือ สนับสนุน ส่งเสริมดูแลการดำเนินงานของ กรรมการบริหารและปฏิบัติภารกิจตามที่คณะกรรมการอำนวยการมอบหมาย

           14.12 รายจ่ายของสมาคม เสนอต่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อขอการรับรองทุกปีและต้องให้เสร็จก่อนวันประชุมใหญ่สามัญประจำปีไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้สมาชิกสามัญ ทั้งหลายอาจตรวจสอบได้ การใช้จ่ายต่าง ๆ ของสมาคม คณะกรรมการอำนวยการ ย่อมทำได้ภายในงบประมาณที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีแล้วเท่านั้น เว้นแต่กรณีที่มีเหตุพิเศษจำเป็นเกิดขึ้น ก็ให้นายกมีอำนาจสั่งจ่ายเงินนอกเหนือจากงบประมาณที่ได้รับได้อีกไม่เกิน 10,000 บาท เมื่อได้รับความเห็นชอบ จากคณะกรรมการอำนวยการ

        14.13  คณะกรรมการอำนวยการต้องฝากเงินของ สมาคมไว้ในธนาคารหรือสหกรณ์ออมทรัพย์ในนามของสมาคม แต่เพื่อให้มีเงินสดไว้สำรองจ่ายคณะกรรมการอำนวยการหรือเหรัญญิกจะเก็บเงินสดรักษาไว้ไม่เกิน 5,000 บาท ใบสำคัญจ่ายเงินจะต้องมีลายมือชื่อนายกและเหรัญญิกกำกับ

             14.14      คณะกรรมการอำนวยการ ต้องจัดให้มีบัญชีต่อไปไว้ให้ถูกต้อง คือ 

                          (1) บัญชีรายรับรายจ่ายของสมาคม

                          (2)  บัญชีทรัพย์สินของสมาคม

หมวด 5
การประชุม

ข้อ15   ให้คณะกรรมการอำนวยการเรียกประชุมสมาชิก เป็นการประชุมใหญ่สามัญประจำปีปีละ 1 ครั้ง โดยกำหนดให้มีการประชุมในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนั้น ๆ โดยอนุโลมให้มีการจัดประชุมในรูปแบบออนไลน์ได้ ทั้งนี้ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการอำนวยการ ในการกำหนดรูปแบบการประชุมใหญ่สามัญประจำปีในปีนั้น ๆ การประชุมใหญ่สามัญประจำปี กำหนดให้มีการแถลงกิจการที่ได้กระทำไป เสนองบประมาณ รายงานบัญชีงบดุล แต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชี ขอมติเห็นชอบตำแหน่งว่าที่นายก และ / หรือ เลือกตั้งกรรมการกลาง แทนกรรมการกลางที่หมดวาระหรือว่างลง

การประชุมใหญ่สามัญประจำปี ต้องมีสมาชิกสามัญมาประชุมไม่น้อยกว่า 30 คนจึงจะเป็นองค์ประชุม และให้นำความในข้อ 20 และ ข้อ 19 มาบังคับใช้โดยอนุโลม

ในปีที่นายกดำรงตำแหน่งมาครบ 1 ปี ให้สมาชิกสามัญในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ลงมติเห็นชอบกับว่าที่นายก ตามรายชื่อที่คณะกรรมการอำนวยการเสนอ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกสามัญ ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุม จึงจะถือว่าได้รับตำแหน่งว่าที่นายก

ถ้าต้องเลื่อนการประชุมใหญ่สามัญประจำปีเพราะสมาชิกสามัญมาประชุมไม่ครบองค์ประชุม ให้คณะกรรมการอำนวยการเรียกประชุมใหม่ภายใน 14 วันนับแต่วันที่ประชุมครั้งแรก การนัดประชุมครั้งที่สองจะมีสมาชิกสามัญ มาประชุมเป็นจำนวนเท่าใดก็ตามให้ถือเป็นองค์ประชุมได้ การเรียกประชุมนี้ต้องแจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 10 วัน

ข้อ 16 การประชุมใหญ่วิสามัญนั้น ให้คณะกรรมการอำนวยการเป็นผู้เรียกประชุม หรือสมาชิกสามัญรวมกันจำนวนไม่น้อยกว่า 30 คน ขอร้องให้เรียกประชุมโดยแจ้งความจำนง หรือความประสงค์เป็นหนังสือยื่นต่อเลขาธิการให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ให้เลขาธิการนัดกำหนดวันประชุมและแจ้งระเบียบวาระให้สมาชิกทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน

                   การประชุมใหญ่วิสามัญ ต้องมีสมาชิกสามัญ มาประชุมไม่น้อยกว่า 30 คน จึงจะนับเป็นองค์ประชุม แต่ถ้าต้องเลื่อนการประชุมเพราะมีสมาชิกสามัญ มาประชุมไม่ครบองค์ การนัดประชุมครั้งที่สองจะมีสมาชิกสามัญ มาประชุมเป็นจำนวนเท่าใดก็ตามให้ ถือเป็นองค์ประชุมได้ และให้นำความในข้อ 15 วรรค 2 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ข้อ 17 ให้มีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการอย่างน้อย 2 เดือนต่อ 1 ครั้ง เพื่อตรวจสอบทางการเงินและปรึกษาหารือกิจการของสมาคม โดยให้เลขาธิการเป็นผู้นัดประชุม นายกหรือ กรรมการอำนวยการตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป อาจเรียกประชุมคณะกรรมการอำนวยการเป็นกรณีพิเศษก็ได้ เมื่อมีเหตุอันสมควร

ข้อ 18 ให้มีการประชุมวิชาการอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยคณะกรรมการอำนวยการต้องกำหนด  รูปแบบการประชุมวิชาการและประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน

การประชุมวิชาการนี้อาจมีผู้เสนอหรือการพิจารณาหารือกิจการบางอย่างด้วยก็ได้ แล้วแต่ผู้เป็นประธานในที่ประชุมจะพิจารณาเห็นเป็นการสมควร จำนวนสมาชิกสามัญที่มีอยู่ในที่ประชุมขณะนั้นให้ถือว่าเป็นองค์ประชุมได้

ข้อ 19 คณะกรรมการอำนวยการต้องมาประชุมเป็นจำนวนเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนคณะกรรมการอำนวยการที่อยู่ในตำแหน่งขณะนั้น จึงจะเป็นองค์ประชุม มติของที่ประชุมให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานที่ประชุมออกเสียงชี้ขาดให้อีกเสียงหนึ่งข้อ 20 ถ้านายกและอุปนายกไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้คณะกรรมการอำนวยการที่มาประชุมตกลงเลือกตั้งเป็นประธานกันเอง เฉพาะการประชุมครั้งนั้น ๆ

ข้อ 20 ถ้านายกและอุปนายกไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้คณะกรรมการอำนวยการที่มาประชุมตกลงเลือกตั้งเป็นประธานกันเอง เฉพาะการประชุมครั้งนั้น ๆ

ข้อ 21 การขออนุมัติโดยไม่ต้องเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือการประชุมใหญ่วิสามัญให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

        21.1 ในกรณีที่ไม่สามารถเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือการประชุมใหญ่วิสามัญได้เนื่องจากเหตุสุดวิสัย ถ้าคณะกรรมการอำนวยการ เห็นว่าเป็นปัญหาหรือกิจการสำคัญ จะหารือสมาชิกทั้งหลาย โดยวิธีการหารือทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรือโดยวิธีการทางออนไลน์ ก็ให้นายกแจ้งข้อความแก่สมาชิกทราบ พร้อมทั้งเสนอญัตติขอให้สมาชิกลงมติในเรื่องนั้น ๆ ถ้าไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนเสียงที่ส่งมาเห็นด้วยกับญัตติ  ก็ให้คณะกรรมการอำนวยการ ดำเนินการตามญัตตินั้นได้    

กรณีที่ต้องมีการลงมติ ในเรื่องนั้น ๆ ให้มีการลงมติทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรือทางออนไลน์ ถ้า 2 ใน 3 ของจำนวนเสียงที่ลงมติเห็นด้วยกับญัตติ ก็ให้คณะกรรมการอำนวยการ ดำเนินการตามญัตตินั้นได้

กรณีถึงวาระต้องมีการเลือกตั้งกรรมการกลางที่หมดวาระไป หรือมีตำแหน่งว่างลง ให้คณะกรรมการอำนวยการพิจารณาวิธีการเลือกตั้ง ตามข้อ 12.4

          21.2 ถ้าในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีหรือการประชุมใหญ่วิสามัญ สมาชิกสามัญไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกที่มาประชุมเห็นสมควรให้เสนอญัตติข้อหนึ่งข้อใดในปัญหาที่พิจารณาอยู่ต่อหน้าสมาชิกสามัญทั้งหลายเพื่อลงมติ โดยวิธีดังกล่าวแล้วในข้อ 21.1 ก็ให้กระทำได้

หมวด 6
การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับและการเลิกสมาคม

ข้อ 22  การแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อบังคับนี้ จะต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือที่ประชุมใหญ่วิสามัญ โดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกสามัญที่เป็นองค์ประชุม

ข้อ 23 กรณียกเลิกสมาคม สมาคมจะเลิกได้โดยมติคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกสามัญทั้งหมด

         เมื่อจะเลิกสมาคมให้คณะกรรมการอำนวยการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ และเสนอวาระการเลิกสมาคมและโอนทรัพย์สินให้องค์การอื่น

       ให้สมาชิกสามัญตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อชำระบัญชีของสมาคม ถ้ามีทรัพย์สินเหลืออยู่ ก็ให้เสนอโอนไปให้แก่นิติบุคคล หรือองค์การที่เกี่ยว
ข้องกับเรื่องจิตวิทยา หรือมีวัตถุประสงค์สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสมาคม

หมวดที่ 7
บทเฉพาะกาล

ข้อ 24 ให้ยกเลิกข้อบังคับฉบับปี 2561 ระเบียบหรือคำสั่งใดที่ขัดแย้งกับข้อบังคับนี้ นับตั้งแต่วันที่ข้อบังคับฉบับแก้ไขปี 2565 มีผลบังคับใช้

                       ลงชื่อ…………………………………………………………………..

                           (พันโท ดร. สุชัย สุรพิชญ์พงศ์)

                                 นายกสมาคมจิตวิทยาแห่งประเทศไทย