หมวด 1
ชื่อ เครื่องหมาย สำนักงาน
ข้อ 1 สมาคมนี้ชื่อว่า “สมาคมจิตวิทยาแห่งประเทศไทย” ใช้อักษรย่อว่า ส.จ.ท.และเรียกเป็นชื่อภาษาอังกฤษว่า “Thai Psychological Association” และใช้อักษรย่อว่า T.P.A.
ข้อ 2 เครื่องหมายของสมาคม เป็นรูปวงกลมพื้นสีฟ้า มีสัญลักษณ์สากลของจิตวิทยา สีขาวอยู่ตรงกลาง มีรวงข้าวสีทองประกอบ 2 ข้าง และมีชื่อสมาคมจิตวิทยาแห่งประเทศไทยทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ สีขาวอยู่ภายในวงกลม
ข้อ 3 สำนักงานของสมาคมตั้งอยู่ ณ อาคารเกษมพัฒน์ มหาวิทยาลัย เกษมบัณฑิต วิทยาเขตพัฒนาการ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร
หมวด 2
วัตถุประสงค์
ข้อ 4 วัตถุประสงค์ของสมาคมเพื่อ
4.1 ส่งเสริมการศึกษาและกิจกรรมทางจิตวิทยาให้เป็นวิชาชีพ เพื่อเป็นประโยชน์แก่สังคม
4.2 เผยแพร่ความรู้ทางจิตวิทยาต่อสังคม
4.3 ส่งเสริมให้มีการวิจัยและเผยแพร่ผลงานทางจิตวิทยา
4.4 ประสานงานจิตวิทยาทุกสาขาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
4.5 ส่งเสริมและควบคุมคุณภาพงานด้านจิตวิทยา
4.6 เพิ่มความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางวิชาการกับสมาคมอื่นๆ ที่มีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ
4.7 ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง
หมวด 3
สมาชิก
ข้อ 5 สมาชิกของสมาคมมี 4 ประเภทคือ
5.1 สมาชิกสามัญ ต้องเป็นบุคคลที่ได้รับปริญญาทางจิตวิทยาสาขาใดสาขาหนึ่ง
5.2 สมาชิกวิสามัญ ต้องเป็นบุคคลที่ปฏิบัติงานในทางจิตวิทยามาแล้วและได้รับความเห็นชอบจาก คณะกรรมการอำนวยการ
5.3 สมาชิกสมทบ ต้องเป็นบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจทางจิตวิทยาและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอำนวยการ
5.4 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลผู้ทรงเกียรติคุณซึ่งคณะกรรมการอำนวยการ ได้ลงมติให้เชิญเป็นสมาชิก เพื่อเป็นเกียรติแก่สมาคมโดยเฉพาะผู้ได้ปฏิบัติงานส่งเสริมการศึกษาค้นคว้าทางจิตวิทยา และ/หรือกิจกรรมของสมาคม
ข้อ 6 สมาชิกของสมาคมต้องมีคุณสมบัติดังนี้
6.1 เป็นผู้บรรลุนิติภาวะ
6.2 เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย
6.3 ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือต้องโทษจำคุก ยกเว้นความผิดฐานประมาทหรือลหุโทษ
6.4 ได้รับความเห็นชอบจาก คณะกรรมการอำนวยการ
ข้อ7 การสมัครเข้าเป็นสมาชิก
ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิก ให้ยื่นใบสมัครตามแบบของสมาคม โดยมีสมาชิกสมาคม เป็นผู้รับรอง 2 คน พร้อมทั้งค่าจดทะเบียนและค่าบำรุงต่อเลขาธิการเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการ เมื่อคณะกรรมการอำนวยการได้ลงมติรับสมัครเข้าเป็นสมาชิกแล้วให้ นายทะเบียนแจ้งไปยังผู้สมัครเป็นลายลักษณ์อักษร และลงชื่อไว้ในทะเบียนสมาชิก
ข้อ 8 ค่าจดทะเบียนและค่าบำรุง
ให้ใช้อัตราที่กำหนดไว้ตามข้อบังคับฉบับจดทะเบียนสมาคม การเปลี่ยนแปลงทำได้โดยให้ คณะกรรมการอำนวยการขอความเห็นชอบโดยเสียงข้างมากในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีหรือการประชุมใหญ่วิสามัญ ทั้งนี้ให้มีการจัดเก็บค่าจดทะเบียนและค่าบำรุงในหมวดดังนี้
8.1 ค่าจดทะเบียน
8.2 ค่าบำรุงแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประเภท รายปี และราย 5 ปี
ข้อ 9 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
9.1 สมาชิกสามัญมีสิทธิสมัครเพื่อเข้ารับเลือกตั้งเป็นว่าที่นายกสมาคม หรือกรรมการกลางของสมาคม
9.2 สมาชิกสามัญมีสิทธิเสนอความเห็นเกี่ยวกับความเจริญของกิจการหรือความเป็นไป ของสมาคมได้ต่อคณะกรรมการอำนวยการหรือที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือที่ประชุมใหญ่วิสามัญ และมีสิทธิ์เข้าชื่อกันตามข้อ 16 เพื่อขอให้คณะกรรมการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ
9.3 สมาชิกสามัญมีสิทธิซักถาม เสนอแนะ และขออนุญาตต่อคณะกรรมการอำนวยการเพื่อตรวจตราเอกสารทะเบียนสมาชิก บัญชีหรือทรัพย์สินของสมาคม ณ สำนักงานของสมาคมได้ในเวลาอันสมควร
9.4 สมาชิกสามัญมีสิทธิเข้าประชุมใหญ่สามัญประจำปี การประชุมใหญ่วิสามัญ หรือการประชุมทางวิชาการ ในการนี้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนคนละ 1 คะแนน การออกเสียงลงคะแนนเป็นสิทธิเฉพาะตัว จะมอบอำนาจให้ผู้อื่นออกเสียงแทนไม่ได้ และมีสิทธิประดับเครื่องหมายของสมาคมได้
9.5 สมาชิกกิตติมศักดิ์ สมาชิกวิสามัญ และสมาชิกสมทบมีสิทธิได้รับข่าวสาร ประดับเครื่องหมายของสมาคม
9.6 สมาชิกสามัญ สมาชิกวิสามัญ และสมาชิกสมทบที่จ่ายค่าบำรุงตลอดชีพมาก่อนการแก้ข้อบังคับนี้ ให้คงสมาชิกภาพประเภทนั้น ๆ ไปจนกว่าจะสิ้นสุดสมาชิกภาพ หรือมีคุณสมบัติเพิ่มเติมที่จะเปลี่ยนสมาชิกภาพจากสมาชิกวิสามัญ หรือสมาชิกสมทบไปเป็นสมาชิกสามัญ กรณีนี้ต้องสมัครใหม่ จ่ายค่าจดทะเบียนใหม่ แต่ไม่ต้องจ่ายค่าบำรุงใหม่ และให้มีสมาชิกภาพเป็นสมาชิกสามัญไปจนกว่าจะสิ้นสุดสมาชิกภาพ
ข้อ 10 การสิ้นสภาพสมาชิกภาพสมาชิกภาพย่อมสิ้นสุดลงด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
10.1.1 ตาย
10.1.2 ลาออก10.1.3 ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือต้องโทษจำคุก เว้นแต่ความผิดในลักษณะฐานลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท10.1.4 ต้องคำพิพากษาของศาลสั่งให้เป็นบุคคลสาบสูญ
10.1.5 คณะกรรมการอำนวยการมีมติให้ออกตามความในข้อ 3
10.2 สมาชิกคนใดประสงค์จะลาออกจากสมาชิกภาพให้แสดงความจำนงเป็น หนังสือยื่นต่อเลขาธิการ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการอำนวยการแต่ต้องชำระเงินค่าบำรุงและหนี้สินอย่างอื่นอันค้างชำระอยู่แก่สมาคมให้เสร็จสิ้นเสียก่อน และความเป็นสมาชิกภาพจะสิ้นสุดนับแต่วันที่คณะกรรมการอำนวยการ ได้อนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรให้ลาออกได้แล้ว
10.3 คณะกรรมการอำนวยการอาจลงมติลบชื่อสมาชิกออกเสียจากทะเบียนได้ ในเมื่อปรากฏชัดแจ้งอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
10.3.1 มีความประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงหรือทำตนให้เป็นที่เสื่อมเสียของสมาคม หรือละเมิดระเบียบหรือข้อบังคับโดยเจตนาเมื่อได้รับคำตักเตือนเป็นหนังสือจากเลขาธิการแล้วก็ยังกระทำอยู่อีก ทั้งนี้ให้คณะกรรมการอำนวยการเป็นผู้ตัดสิน
10.3.2 ไม่ชำระค่าบำรุงหลังจากได้รับการรับรองเป็นสมาชิก หรือไม่ชำระค่าบำรุงใน 3 เดือนแรกของปีที่ต้องต่ออายุสมาชิกภาพ และเหรัญญิกได้เตือนไปแล้ว 2 ครั้ง การเตือนถามครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ให้มีระยะห่างกันตามสมควร ภายใน 3 เดือน ถ้าสมาชิกผู้นั้นยังไม่นำเงินมาชำระหรือเพิกเฉยละเลยเสีย โดยไม่ชี้แจงเหตุผลให้เป็นที่พอใจของคณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการอำนวยการมีอำนาจลบชื่อผู้นั้นออกจากทะเบียนสมาชิกของสมาคม และให้เลขาธิการมีหนังสือแจ้งให้สมาชิกผู้นั้นทราบ แต่สมาชิกผู้ถูกลบชื่อออกด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ย่อมมีสิทธิขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกอีกได้ในเมื่อได้ปฏิบัติการชำระค่าบำรุงและหนี้สินที่ค้างให้เสร็จสิ้นไปโดยเรียบร้อย
หมวด 4
การดำเนินงานของสมาคม
ข้อ 11 คณะกรรมการอำนวยการ
11.1 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการอำนวยการ ประกอบด้วยกรรมการบริหาร 9 ตำแหน่ง และกรรมการกลาง 10 ตำแหน่ง ดังนี้
11.1.1 กรรมการบริหาร 9 ตำแหน่ง ประกอบด้วย
- นายก
- ว่าที่นายก
- อุปนายก
- เลขาธิการ
- เหรัญญิก
- ปฏิคม
- สาราณียากร
- นายทะเบียน
- ประชาสัมพันธ์
11.1.2 กรรมการกลาง 10 คน
ข้อ 12 การเลือกตั้ง และการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการ
12.1 นายกเป็นผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีให้ดำรงตำแหน่งว่าที่นายกมาแล้วเป็นเวลา 2 ปี เมื่อขึ้นดำรงตำแหน่งนายก ให้อยู่ในวาระ 3 ปี เมื่อพ้นวาระแล้วจะต้องเป็นที่ปรึกษาสมาคม ตามวาระของนายกคนปัจจุบัน จึงมีสิทธิได้รับเลือกตั้งเป็นว่าที่นายกอีก
12.2 ว่าที่นายก ได้มาจากการ ให้คณะกรรมการอำนวยการ สรรหาและเสนอชื่อ เพื่อขอมติเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี มติของที่ประชุมให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานที่ประชุมออกเสียงชี้ขาดให้อีกเสียงหนึ่ง ผู้ที่ได้รับการเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ให้ดำรงตำแหน่งว่าที่นายก 2 ปี จึงเลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งนายก
12.3 ให้สิทธินายกแต่งตั้งสมาชิกให้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหาร 7 ตำแหน่ง คือ อุปนายก เลขาธิการ เหรัญญิก ปฏิคม สาราณียากร นายทะเบียน และประชาสัมพันธ์ และอยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระของนายกที่แต่งตั้งตน
12.4 กรรมการกลาง 10 คนให้มีการเลือกตั้งสมาชิกให้ดำรงตำแหน่งกรรมการกลาง 10 คน โดยการลงคะแนนเสียงพร้อมกันทุกตำแหน่งในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ผู้ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดตามลำดับจำนวนตำแหน่งให้ถือว่าเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง ถ้าคะแนนเสียงของลำดับสุดท้ายเท่ากัน ให้ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีลงคะแนนเสียงแก่ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงลำดับสุดท้ายเท่ากันอีกครั้ง ผู้ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดตามลำดับจำนวนตำแหน่งให้ถือว่าเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งถ้าคะแนนเสียงเท่ากันอีกให้ตัดสินโดยวิธีการจับฉลาก กรรมการกลางที่ได้รับเลือกตั้ง 10 คนจะอยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระของนายก
ข้อ13 การพ้นจากตำแหน่งคณะกรรมการอำนวยการ
13.1 คณะกรรมการอำนวยการย่อมพ้นจากตำแหน่งโดยสาเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- ถึงคราวออกตามวาระ
- ลาออก
- สิ้นสุดสมาชิกภาพ ดังปรากฏในข้อ 10.1
- ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีลงมติให้ออกตามความในข้อ 13.2
- ไม่มาประชุมกรรมการบริหาร ติดต่อกันเกิน 3 ครั้ง โดยไม่มีเหตุผล เพียงพอ การตัดสินความเพียงพอของเหตุผลให้ใช้เสียงข้างมากของคณะกรรมการอำนวยการที่มาประชุม
13.2 ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีอาจลงมติถอดถอนคณะกรรมการอำนวยการ ทั้งคณะหรือบางคนได้โดยคะแนนเสียง 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกที่มาประชุมในการประชุมนั้น ในกรณีที่ดำเนินกิจการของสมาคมนอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์และข้อบังคับของสมาคม ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง
ข้อ 14 อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการอำนวยการ
- คณะกรรมการอำนวยการ มีหน้าที่บริหารกิจการของสมาคม ในการนี้มีสิทธิและอำนาจออกระเบียบข้อบังคับอื่นใดที่ไม่ขัดแย้งต่อข้อบังคับของสมาคม ตั้งที่ปรึกษา ตั้งอนุกรรมการตลอดจนการบรรจุและถอดถอนเจ้าหน้าที่ประจำของสมาคม คณะกรรมการอำนวยการ แต่ละคนมีหน้าที่ดูแลให้กิจการทุกอย่างของสมาคมดำเนินไปด้วยดี
- นายกสมาคมมีฐานะและหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการทุกอย่างของสมาคมให้ดำเนินไปตามวัตถุประสงค์ เป็นประธานในที่ประชุม มีหน้าที่ทำการติดต่อกับนิติบุคคลหรือองค์การอื่นใดตลอดจนบุคคลทั่วไป มีอำนาจตามความในข้อ 14.3 และข้อ 21 กับเป็นผู้เรียกหรือสั่งนัดหมายประชุมคณะกรรมการอำนวยการ
- ว่าที่นายก มีหน้าที่ศึกษาการดำเนินงานของคณะกรรมการอำนวยการ และปฏิบัติภารกิจตามที่คณะกรรมการอำนวยการ มอบหมาย
- อุปนายกสมาคม มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมและทำหน้าที่บริหารงานแทนเมื่อนายกสมาคมไม่อยู่ หรือเมื่อได้รับมอบหมาย
- เลขาธิการ มีหน้าที่เป็นผู้ติดต่อกับสมาชิกและบุคคลอื่นใดในกิจการทั่วไป รักษาระเบียบข้อบังคับของสมาคม บันทึกและจัดทำรายงานการประชุมกับเสนอรายงานแสดงกิจการของสมาคมต่อที่ประชุมใหญ่ประจำปี นัดและจัดการประชุมคณะกรรมการอำนวยการ ประจำเดือน และประชุมใหญ่สามัญประจำปี ในกรณีที่นายกและอุปนายกสมาคมไม่สามารถปฏิบัติได้
- เหรัญญิก มีหน้าที่รับจ่ายและรักษาเงินของสมาคมทำบัญชีงบเดือน บัญชีงบดุล และงบประมาณประจำปี เสนอคณะกรรมการอำนวยการ ควบคุมการใช้จ่ายตามงบประมาณที่ได้รับอนุญาตแล้ว และเป็นผู้เสนอรายงานการเงินของสมาคมต่อที่ประชุมใหญ่ประจำปี
- ปฏิคม มีหน้าที่ให้ความสะดวกแก่สมาชิกในด้านสมาชิกสัมพันธ์ เช่น การชุมนุมพบปะร่วมสามัคคี และต้อนรับสมาชิกหรือผู้แทนสมาคมต่างประเทศ
- สาราณียากร มีหน้าที่ดูแลห้องสมุดของสมาคมจัดหาหนังสือและนิตยสารกับวางระเบียบเกี่ยวกับห้องสมุด ตลอดจนการพิมพ์เผยแพร่เอกสาร ของสมาคม
- นายทะเบียน มีหน้าที่รักษาทะเบียนของสมาคมกับวางระเบียบเกี่ยวกับงานทะเบียน
- ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่ให้ข่าวสารและเผยแพร่ผลงานของสมาคม
- กรรมการกลาง มีหน้าที่ช่วยเหลือ สนับสนุน ส่งเสริม ดูแลการดำเนินงานของกรรมการบริหาร และปฏิบัติภารกิจตามที่คณะกรรมการอำนวยการมอบหมาย
- รายจ่ายของสมาคมเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ประจำปี เพื่อขอการรับรองทุกปีและต้องให้เสร็จก่อนวันประชุมใหญ่ไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อสมาชิกทั้งหลายอาจตรวจดูได้ การใช้จ่ายต่างๆของสมาคม คณะกรรมการอำนวยการ ย่อมทำได้ภายในงบประมาณที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ประจำปีแล้วเท่านั้น เว้นแต่กรณีที่มีเหตุพิเศษจำเป็นเกิดขึ้นก็ให้นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินนอกเหนือจากงบประมาณได้อีกไม่เกิน 10,000 บาท เมื่อได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการอำนวยการ
- คณะกรรมการอำนวยการต้องฝากเงินของ สมาคมไว้ในธนาคารหรือสหกรณ์ออมทรัพย์ในนามของสมาคม แต่เพื่อให้มีเงินสดไว้สำรองจ่ายคณะกรรมการอำนวยการ หรือเหรัญญิกจะเก็บเงินสดรักษาไว้ไม่เกิน 5,000 บาท ใบสำคัญจ่ายเงินจะต้องมีลายมือชื่อนายกสมาคมและเหรัญญิกกำกับ
- คณะกรรมการอำนวยการ ต้องจัดให้มี บัญชีต่อไปไว้ให้ถูกต้อง คือ
- บัญชีรายรับรายจ่ายของสมาคม
- บัญชีทรัพย์สินของสมาคม
หมวด 5
การประชุม
ข้อ15 ให้คณะกรรมการอำนวยการเรียกประชุมสมาชิกเป็นการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ปีละ 1 ครั้ง ทุกรอบขวบปีของสมาคมเพื่อแถลงกิจการที่ได้กระทำไป เสนองบประมาณ บัญชีงบดุล แต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชี และเพื่อให้สมาชิกสามัญในที่ประชุมใหญ่ลงมติเลือกตั้งกรรมการกลาง แทนกรรมการกลางที่หมดวาระไป
การประชุมใหญ่สามัญประจำปีต้องมีสมาชิกสามัญมาประชุมไม่น้อยกว่า 30 คน จึงจะเป็นองค์ประชุม และให้นำความในข้อ 20 และ ข้อ 19 มาบังคับใช้โดยอนุโลม
ในปีที่นายกดำรงตำแหน่งมาครบ 1 ปี ให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติเลือกว่าที่นายก
ถ้าต้องเลื่อนการประชุมใหญ่สามัญประจำปีเพราะสมาชิกสามัญมาประชุมไม่ครบองค์ประชุม ให้คณะกรรมการอำนวยการเรียกประชุมใหม่ภายใน 14 วันนับแต่วันที่ประชุมครั้งแรก ถ้าสมาชิกสามัญมาประชุมเท่าไรก็ให้ถือว่าครบองค์ประชุม การเรียกประชุมนี้ต้องแจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 10 วัน
ข้อ 16 การประชุมใหญ่วิสามัญนั้น ให้คณะกรรมการอำนวยการ เป็นผู้เรียกประชุม หรือสมาชิก รวมกันจำนวนไม่น้อยกว่า 30 คน ขอร้องให้เรียกประชุมโดยแจ้งความจำนง หรือความประสงค์เป็นหนังสือยื่นต่อเลขาธิการทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ให้เลขาธิการนัดกำหนดวันประชุมและแจ้งระเบียบวาระให้สมาชิกทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน
การประชุมวิสามัญ ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 30 คน จึงจะนับเป็นองค์ประชุม แต่ถ้าต้องเลื่อนการประชุมเพราะมีสมาชิกมาประชุมไม่ครบองค์ การนัดประชุมครั้งที่สองจะมีสมาชิกมาประชุมเป็นจำนวนเท่าใดก็ตามให้ถือเป็นองค์ประชุมได้ และให้นำความในข้อ 15 วรรค 2 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ 17 ให้มีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการ อย่างน้อย 2 เดือน ต่อ 1 ครั้ง เพื่อตรวจตราการเงินและปรึกษาหารือกิจการของสมาคม โดยให้เลขาธิการเป็นผู้นัดประชุม นายกสมาคม หรือ กรรมการอำนวยการ ตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไป อาจเรียกประชุมคณะกรรมการอำนวยการ เป็นพิเศษก็ได้ เมื่อมีเหตุอันสมควร
ข้อ 18 ให้มีการประชุมวิชาการอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ในการประชุมนี้อาจมีผู้เสนอหรือการพิจารณาหารือกิจการบางอย่างด้วยก็ได้ แล้วแต่ผู้เป็นประธานในที่ประชุมจะพิจารณาเห็นเป็นการสมควร จำนวนสมาชิกที่มีอยู่ในที่ประชุมขณะนั้นให้ถือว่าเป็นองค์ประชุมได้
ข้อ 19 คณะกรรมการอำนวยการต้องมาประชุมเป็นจำนวนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนคณะกรรมการอำนวยการที่อยู่ในตำแหน่งขณะนั้นจึงจะเป็นองค์ประชุม มติของที่ประชุมให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานที่ประชุมออกเสียงชี้ขาดให้อีกเสียงหนึ่ง
ข้อ 20 ถ้านายกและอุปนายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้คณะกรรมการอำนวยการ ที่มาประชุมตกลงเลือกตั้งกันเองเป็นประธานเฉพาะการประชุมคราวหนึ่งๆ
ข้อ 21 การขออนุมัติโดยไม่ต้องเรียกประชุมใหญ่สามัญ หรือการประชุมใหญ่วิสามัญ ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
21.1 ในกรณีที่ไม่สามารถเรียกประชุมใหญ่สามัญ หรือการประชุมใหญ่วิสามัญได้ ถ้าคณะกรรมการอำนวยการ เห็นว่าเป็นปัญหาหรือกิจการ สำคัญ จะหารือสมาชิกทั้งหลายโดยวิธีเรเฟเรนดุม คือ การลงคะแนนเสียงโดยวิธีใช้บัตรหรือจดหมายแทนตัว ก็ให้นายกสมาคมแจ้งข้อความแก่สมาชิกทราบ พร้อมทั้งเสนอญัตติขอให้สมาชิกลงมติในเรื่องนั้นๆ ถ้า 2 ใน 3 ของจำนวนเสียงที่ส่งมาเห็นด้วยกับญัตติ ก็ให้คณะกรรมการอำนวยการ ดำเนินการตามญัตตินั้นได้
21.2 ถ้าในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีหรือการประชุมใหญ่วิสามัญ สมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกที่มาประชุมเห็นสมควรให้เสนอญัตติข้อหนึ่งข้อใดในปัญหาที่พิจารณาอยู่ต่อหน้าสมาชิกทั้งหลายเพื่อลงมติ โดยวิธีเรเฟเรนดุมดังกล่าวแล้วในข้อ 21.1 ก็ให้กระทำได้
หมวด 6
การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับและการเลิกสมาคม
ข้อ 22 การแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อบังคับนี้ จะต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือที่ประชุมใหญ่วิสามัญ โดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกสามัญที่มาประชุม
ข้อ 23 กรณียกเลิกสมาคม สมาคมจะเลิกได้โดยมติคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกสามัญทั้งหมด เมื่อจะเลิกสมาคม ให้คณะกรรมการอำนวยการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ และเสนอวาระการเลิกสมาคมและโอนทรัพย์สินให้องค์การอื่น ให้สมาชิกสามัญตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อชำระบัญชีของสมาคม ถ้ามีทรัพย์สินเหลืออยู่ ก็ให้เสนอโอนไปให้แก่นิติบุคคล หรือองค์การที่เกี่ยวข้องกับเรื่องจิตวิทยา หรือมีวัตถุประสงค์สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสมาคม
ดร. ประสาร มาลากุล ณ อยุธยา
(รองศาสตราจารย์ ดร. ประสาร มาลากุล ณ อยุธยา)
นายกสมาคมจิตวิทยาแห่งประเทศไทย